top of page

แผ่นดินไหว วันที่ 28 มีนาคม 2565 ศูนย์กลางประเทศพม่า แรงสั่นสะเทือน 7.7 ริกเตอร์

  • Writer: TARA BUNNAK
    TARA BUNNAK
  • Mar 28
  • 1 min read

วันนี้คงมีหลายคนที่รู้สึกวิงๆเวียนๆบนพื้นราบ หรือรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนบนอาคารสูง เวลาประมาณ บ่ายโมงกว่าๆ ซึ่งเป็นผลจาก แผ่นดินไหว วันที่ 28 มีนาคม 2565 ศูนย์กลางประเทศพม่า แรงสั่นสะเทือน 7.7 ริกเตอร์ บริเวณรอยเลื่อนสะกาย


แผ่นดินไหว
ภาพข่าวจาก : https://www.bbc.com/thai/articles/c2010wg75zdo

เรามาทำความรู้จักกับนอยเลื่อนสะกายกันครับ

"รอยเลื่อนสะกาย" (Sagaing Fault) ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง มีความยาวประมาณ 1,200 กม. วางตัวอยู่แนวทิศเหนือ-ใต้ ผ่านกลางประเทศเมียนมา โดยถูกขนานนามว่า "ยักษ์หลับกลางเมืองพม่า" เคยเกิดแผ่นดินไหวตั้งแต่ขนาด 2.9 - 7.3 ประมาณ 280 ครั้ง 

รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) ถือเป็นหนึ่งในรอยเลื่อนมีพลัง (active fault) ที่สำคัญอันดับต้น ๆ ในอาเซียนบ้านเรา ซึ่งคำว่า Sagaing Fault สมัยก่อนคนไทยเคยอ่าน "รอยเลื่อนสะเกียง" ต่างชาติอ่าน "รอยเลื่อนสะแกง" ต่อมาชาวเมียนมาบอกว่า บ้านเขาเรียกว่า "รอยเลื่อนสะกาย" ทุกวันนี้จึงสรุปเรียกให้ตรงกันว่า "รอยเลื่อนสะกาย" ตามเจ้าของพื้นที่


จากบทความ รอยเลื่อนสะกาย-ยักษ์หลับกลางเมืองพม่า โดย สันติ ภัยหลบลี้ และ สัณฑวัฒน์ สุขรังสี (2557) แปลความหมายภาพถ่ายดาวเทียม ประเมินเกี่ยวกับรอยเลื่อนสะกายไว้ ดังนี้ 

รอยเลื่อนสะกาย มีความยาวประมาณ 1,200 กิโลเมตร วางตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ ผ่ากลางอกประเทศพม่า และพาดผ่านแทบทุกเมืองที่สำคัญของเมียนมา

เริ่มจากเมืองมิตจีนา (Myitkyina) มัณฑะเลย์ (Mandalay) ตองยี (Tounggyi) เนปิดอว์ (Naypyidaw) พะโค (Bago) ย่างกุ้ง (Yangon) ทั้งยังยังลากยาวต่อลงไปในทะเลอันดามัน 

ตลอดแนวรอยเลื่อนสะกาย พบภูมิประเทศที่แสดงถึงการปริแตกของเปลือกโลกอยู่หลายแบบ เช่น ผารอยเลื่อน (fault scarp) เนินเขาขวาง (shutter ridge) หนองน้ำยุบตัว (sag pond) ทางน้ำหัวขาด (beheaded stream) และทางน้ำหักงอ (offset stream) ซึ่งภูมิประเทศเหล่านี้ช่วยยืนยันว่า รอยเลื่อนสะกายมีการเลื่อนตัวแบบเหลื่อมข้างชนิดขวาเข้า (dextral strike-slip fault)

ในทางธรณีแปรสัณฐาน (tectonic setting) นักธรณีวิทยา (Curray, 2005) เชื่อว่า รอยเลื่อนสะกายเป็นขอบหรือรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกย่อยโบราณ 2 แผ่น คือ แผ่นซุนดา (Sunda Plate) และ แผ่นพม่า (Burma Plate) ซึ่งปัจจุบันถือเป็นส่วนหนึ่งของ แผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย (Eurasian Plate) 

อย่างไรก็ดี ผลจากการเคลื่อนที่ในปัจจุบันของแผ่นเปลือกโลกอินเดีย (Indian Plate) เข้าชนยูเรเซียในแนวตะวันออกเฉียงเหนือค่อนไปทางเหนือ ทำให้รอยเลื่อนสะกายซึ่งเป็นรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกเก่าที่ยังไม่เชื่อมกันสนิทดี ขยับตามไปด้วย จากการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ตัวอย่างหินแปรบริเวณเมืองโมกก (Mogok metamorphic belt) ที่เกิดจากการเบียดบี้กันของแผ่นซุนดาและแผ่นพม่า

สรุปว่า รอยเลื่อนสะกายเริ่มขยับตัวแบบเป็นจริงเป็นจัง เมื่อประมาณ 16–22 ล้านปี ที่ผ่านมา (Searle และคณะ, 2007) 

นอกจากนี้จากการเก็บข้อมูลเพื่อระบุตำแหน่งพื้นโลกจากเครื่องจีพีเอสความละเอียดสูง ที่ติดตั้งกระจายทั่วประเทศพม่า นักธรณีวิทยา (Nielsen และคณะ, 2004; Socquet และคณะ, 2006 ) พบว่า ปัจจุบันแผ่นเปลือกโลกอินเดียวิ่งชนยูเรเซียด้วยอัตราเร็ว 35 มิลลิเมตร/ปี และมีการถ่ายเทแรงเค้นทางธรณีแปรสัณฐาน (tectonic stress) เข้ามาภายในแผ่นยูเรเซีย ทำให้รอยเลื่อนสะกาย มีอัตราการเคลื่อนตัวหย่อน ๆ ลงมาที่ 18 มิลลิเมตร/ปี ซึ่งก็ยังถือว่า เร็วและดุพอสมควรถ้าเทียบกับรอยเลื่อนส่วนใหญ่ของไทย

รอยเลื่อนสะกาย จึงถือว่า เป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวสำคัญสามารถเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่และมีโอกาสสร้างภัยพิบัติทั้งต่อประเทศเมียนมาโดยตรงรวมถึงประเทศไทยได้ 

ตัวอย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหว "รอยเลื่อนสะกาย" ที่ส่งผลกระทบถึงไทย

เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.0 เมื่อวันที่ 23 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2455 ที่เมืองมัณฑะเลย์ ทำให้เมียนมาได้รับความรุนแรงจากแผ่นดินไหวสูงในระดับ VII-IX ตามมาตราเมอร์คัลลีแปลง (Modified Mercalli Intensity, MMI) และส่งผลกระทบถึงภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครของไทยในระดับ III คือ ผู้ที่อยู่ในบ้านรู้สึกได้ เหมือนรถบรรทุกวิ่งผ่าน

เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.3 เมื่อวันที่ 3 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2473 ซึ่งจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่เมืองพะโค ทำให้เมียนมาได้รับความรุนแรงแผ่นดินไหวระดับ IX และบางพื้นที่ในภาคเหนือของไทยได้รับความรุนแรงแผ่นดินไหวระดับ V คือ ผู้ที่อยู่ในบ้านรู้สึกชัดเจน ข้าวของในบ้าน หน้าต่าง ประตูสั่นไหว คนที่หลับอยู่อาจตกใจตื่น

ย้อนรอยความเสียหายจาก "รอยเลื่อนสะกาย"

รอยเลื่อนสะกายยังคงเลื่อนตัวอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ตลอดแนวรอยเลื่อนยังมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัดในช่วงปี พ.ศ. 2507 – พ.ศ. 2555 พบว่า เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 2.9-7.3 อย่างน้อย 280 ครั้ง และหากย้อนกลับไปถึงบันทึกประวัติศาสตร์พบว่า รอยเลื่อนสะกายเคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในระดับที่สร้างความเสียหายหลายต่อหลายครั้ง

เจดีย์ชเวมอดอร์ (Shwemawdaw Pagoda) ที่เมืองหงสาวดี หรือที่คนไทยเรียก พระธาตุมุเตา เคยพังทลายจากแผ่นดินไหวใหญ่ถึง 4 ครั้ง ซึ่งเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.3 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2473 ทางตะวันตกของเมืองย่างกุ้ง ทำให้ปลียอดของเจดีย์ชเวมอดอร์หักพังลงมา

เจดีย์มินกุน (Mingun Pagoda) เจดีย์ที่ได้ชื่อว่า เป็นเจดีย์อิฐแดงที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนได้รับความเสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหวใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2460 


ต้นฉบับ


Comentários


© 2025 by Tara Bunnak

bottom of page